ขอบคุณภาพจากเน๊ต
อันที่จริงควรตั้งคำถามใหม่ น่าจะดีกว่า ขอเปลี่ยนคำถามว่า ควรจะทำอย่างไร แทน คำว่า เถียงอย่างไร
การเถียงกัน ไม่ใช่การแก้ปัญหา และ เวลาเถียงกับเจ้าพนักงานตำรวจ โอกาสที่จะโดนข้อหาอื่นตามมา เพราะ บันดาลโทสะ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็น คดีอื่นๆ ซึ่่งไม่ควรจะเกิดขึ้น
1. ต้องพึงเข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจ กำลังปฎิบัติหน้าที่ เราจะพูดอะไร ก็พูดเฉพาะเรื่องของเรา กับ คดีของเรา เท่านั้น หากสามารถบันทึกเสียงหรือภาพ ก็ควรบันทึกไว้ด้วย และไม่ต้องห่วงว่า จะถูกดำเนินคดีในข้อหา ถ่ายรูปหรือถ่ายคลิป เจ้าพนักงาน เพราะไม่มีกฎหมายห้าม
2. ต้องให้เกียรติ คู่สนทนา แม้ว่า คู่สนทนาจะไม่พูดจาไม่ให้เกียรติ อันเป็นการแสดงถึงวุฒิภาวะ อย่างหนึ่ง คนที่ไม่ให้เกียรติคู่สนทนา มักจะหลุดภาษาออกมาโดยพลั้งเผลอ เพราะสันดาน บ่อย ๆ ซึ่งคำๆนั้น มันจะมีคดี หมิ่นประมาทตามมา
อีกประการหนึ่ง การให้เกียรติคู่สนทนา จะทำให้ลดความขัดแย้งและความรุนแรง ลงได้ เราจึงควรพยามพูดอยู่ในเหตุผล และหลักกฎหมาย ซึ่งสำคัญกว่า การยั่วยุกัน
3. ในกรณีที่เราถูกกล่าวหา และตำรวจจะเขียนใบสั่งให้ สิ่งแรกเราต้องมั่นใจว่า เราไม่ได้ทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า พรบ. จราจรทางบก ,พรบ. รถยนต์ , พรบ.ขนส่ง ซึ่งหากเราไม่ศึกษากฎหมายเหล่านั้น เราจะไม่มีภูมิความรู้ในเบื้องต้น โต้แย้งคัดค้านก็ไม่ถูก หรือตำรวจตั้งข้อกล่าวหาให้ เราก็ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ โอกาสที่จะโต้แย้งตามหลักกฎหมายจึงเป็นไปได้ยาก
3.1 ในกรณี ท่านที่พอมีภูมิความรู้ ตามข้อ 3 มาบ้าง ก็ควรจะรู้ให้จริง ในเรื่องนั้นๆ หากไม่ผิดมาตรานี้ จะไปผิดมาตราอื่นหรือไม่ ไม่ใช่ดันทุรังเถียงข้างๆคูๆ
4. ให้ใช้สติ สอบถามข้อหาว่าเราผิดอะไร เจ้าพนักงานตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหา ให้ถูกต้อง หากเราไม่เห็นด้วย ก็อาจโต้แยัง ตามภูมิความรู้ แต่ไม่จำเป็นต้องโต้เถียงแบบยั่วยุ เอาเป็นเอาตาย
5. หากเจ้าพนักงานตำรวจไม่รับฟังเหตุผล ท่านจะให้เขาเขียนใบสั่งมาก็ได้ (ความจริง ตำรวจสามารถเขียนใบสั่งให้เราได้โดยไม่ต้องถามเราหรอก) ในการเขียนใบสั่งให้ ตรวจดูใบสั่งว่า ตั้งข้อหาถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่กล่าวหาว่า ท่อไอเสียรถเสียงดัง แต่ไปเขียนในใบสั่งว่า ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย
ซึ่งถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ท่านต้องโต้แย้งให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะรับใบสั่งนั้นมา เพราะถ้าท่านรับใบสั่งมาแล้ว เท่ากับยอมรับว่า ข้อหาในใบสั่งนั้นถูกต้อง (แต่จะผิดหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง)
6. เมื่อรับใบสั่งนั้นมาแล้ว ท่านมีวิธีการดังต่อไปนี้
6.1 นำใบสั่งเปรียบเทียบปรับ ใบนั้น ไปพบพนักงานสอบสวน ของสถานีตำรวจที่ออกใบสั่ง และแจ้งต่อ พนักงานสอบสวนว่า เราไม่ยอมรับข้อหาและไม่ยอมเสียค่าปรับ ขอให้พนักงานสอบสวน นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งพนักงานสอบสวนจะคืนใบอนุญาตให้ท่าน และสอบปากคำท่านในฐานะผู้ต้องหา ในการสอบปากคำในฐานะผู้ต้องหา ท่านมีสิทธิให้การอย่างไรด้ก็ได้ จะปฎิเสธลอยๆ หรือ ปฎิเสธโดยแสดงเหตุผลด้วยก็ได้ และท่านมีสิทธิขอให้ทนายร่วมฟังการสอบสวนด้วยก็ได้ เมื่อสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนจะนัดหมายท่านเพื่อตัวส่งฟ้องต่อไป
ตำรวจจะทำสำนวนส่งให้อัยการและนัดท่านมารับฟ้อง ในวันรับฟ้อง ศาลจะถามว่า ท่านจะรับหรือปฎิเสธ และมีทนายหรือไม่ หากไม่มีทนาย ศาลจะตั้งทนายให้ท่านก็เข้าสู่กระบวนการในศาลโดยสมบูรณ์ หากท่านแพ้คดี ก็แค่เสียค่าปรับ แต่ถ้าท่านชนะคดี ค่อยกลับมาฟ้อง 157 ก็ได้
6.2 กรณีตาม 6.1 เป็นกรณีที่ท่านรอเป็นจำเลย แต่ถ้าท่านเห็นว่า การออกใบสั่งไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ท่านก็สามารถ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุได้
ในกรณีที่ท่านไปแจ้งพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่าล่าช้า หรือ คิดว่าแจ้งแล้วคดีจะไม่มีความคืบหน้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านก็สามารถ จ้างทนายความฟ้องร้องได้ด้วยตัวเอง
การดำเนินคดี...ไม่มีอะไรยุ่งยาก หากรู้จริง และ มีความกล้าที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองสักหน่อย นะครับ
อนึ่ง ความผิด ตามกฎหมายจราจร ส่วนใหญ่ เป็นความผิดลหุโทษ แม้แพ้คดี ก็ไม่มีประวัติทางอาชญากรรมนะครับ
ที่มา: ทนายเกิดผล แก้วเกิด